Skip to content

Review Projector BenQ W11000 โฮมโปรเจคเตอร์ 4k เครื่องแรกของโลก

เป้าหมายสูงสุดของหลายๆ ท่านที่ชื่นชอบความบันเทิงภายในบ้าน คงไม่พ้นได้อัพเกรดระบบภาพคุณภาพสูงพร้อมขนาดจอใหญ่เต็มตา ให้อารมณ์แบบเดียวกับโรงภาพยนตร์… ปัจจุบันถึงแม้เราจะมีตัวเลือกอย่างทีวีความละเอียด 4K จำนวนมากมาย แต่จะหาขนาดที่ใหญ่เต็มตาเกิน 100 นิ้ว นั้นยากเต็มที “โฮมโปรเจคเตอร์” จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีและสมเหตุสมผลกับงบประมาณมากกว่า แต่ทว่าก็ติดปัญหาอยู่ที่ โปรเจคเตอร์ที่มีความสามารถถ่ายทอดความละเอียดระดับ 4K ได้นั้น กลับยังมีตัวเลือกไม่มาก

ที่ผ่านมา 4K Home Cinema Projector จำกัดอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น เมื่อการแข่งขันน้อย ระดับราคาจึงลดลงค่อนข้างช้า ผิดกับ 4K TV ที่มีผู้เล่นในตลาดมากกว่า… ทว่าบัดนี้เมื่อ “BenQ” หนึ่งในผู้ผลิตโปรเจคเตอร์รายใหญ่ นำเสนอโปรเจคเตอร์คุณภาพโดดเด่นในราคาคุ้มค่ามาช้านาน ได้ก้าวเท้าเข้ามาด้วยการเปิดตัว Home Cinema Projector ความละเอียดระดับ 4K ด้วยเทคโนโลยี DLP (Digital Light Processing) พร้อมการรับรองมาตรฐาน THX HD Display เป็นเครื่องแรกของโลก… เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการโปรเจ็คเตอร์ระดับไฮเอ็นด์ได้มากทีเดียว

“Breathtaking 8.3 Million Pixel Performance”

หากเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตจอพาเนลของทีวี ต้องบอกว่าการพัฒนาโปรเจคเตอร์ให้ได้ความละเอียดระดับ 4K ทำได้ยากกว่า แต่กระนั้นผู้ผลิตก็ไม่ยอมแพ้ บัดนี้ “Texas Instruments” เจ้าของเทคโนโลยี DLP ทลายข้อจำกัดด้วยการผลิตและจำหน่าย DMD (Digital Micromirror Device) Chip ที่สามารถให้ความละเอียดในการแสดงผลสูงถึงระดับ 4K สำหรับโปรเจคเตอร์บ้านเป็นที่เรียบร้อย

โดยหลักการของ 4K UHD DMD Chip ที่ใช้ใน BenQ รุ่น W11000 จะมีจำนวน micromirrors ทั้งสิ้น 2716 x 1528 หรือเท่ากับ 4.15 ล้านพิกเซล ผนวกกับเทคโนโลยีการแสดงผลแบบ XPR ซึ่งใช้ Optical Actuator ที่ทำงานรวดเร็วมากจนสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือรวมกันทั้งสิ้นเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับความละเอียด 4K ที่เราคุ้นเคยนี่เอง…

หลักการนี้ยังได้การรับรองจาก Consumer Technology Association หรือ CTA ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงาน Consumer Electronic Show หรือ CES ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีนั่นเอง

ผลเกี่ยวเนื่องจากแนวทาง 4K XPR ข้างต้นนี้ BenQ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากรายละเอียดของภาพที่สูงขึ้นกว่า Full HD Projector อย่างชัดเจนแล้ว ยังไม่ทำให้เกิดปัญหา Screen-door Effect หรือการรบกวนของเส้นตารางพิกเซล อีกทั้งยังไม่มีปัญหา Misconvergence หรืออาการเหลื่อมสี ที่อาจพบได้กับเทคโนโลยีการแสดงผลของโปรเจคเตอร์รูปแบบอื่น ซึ่งข้อมูลนี้เป็นความจริงหรือไม่…? อีกเดี๋ยวเราจะมาพิสูจน์กันในช่วงรายงานผลการทดสอบครับ

Design – การออกแบบ

แต่ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องคุณภาพของภาพ มาดูลักษณะการออกแบบของโปรเจคเตอร์เรือธงของ BenQ รุ่นนี้กันก่อนดีกว่า แน่นอนเพื่อให้สมกับความเป็นรุ่นใหญ่ นอกจากวัสดุ ดีไซน์ งานประกอบที่ดูดีแล้ว ขนาดก็ใหญ่โตตามไปด้วย

W11000 เหมือนเช่นโปรเจคเตอร์ระดับท็อปส่วนใหญ่ที่มักจัดวางตำแหน่งเลนส์ฉายภาพไว้กึ่งกลาง เพื่อให้ง่ายในการอ้างอิงจุดติดตั้งโดยเฉพาะเมื่อยึดเข้ากับขาแขวนเพดาน อีกจุดที่คำนึงถึงผลลัพธ์ได้น่าสนใจคือการออกแบบระบบระบายความร้อนไว้ด้านหน้าตัวเครื่อง ปกติเวลาใช้งานคงไม่มีใครนั่งขวางหน้าโปรเจคเตอร์เพราะจะบังภาพ เหตุนี้จึงไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการที่ต้องโดนลมร้อนเป่าใส่โดยเฉพาะเมื้อตั้งโปรเจคเตอร์บนโต๊ะ ผิดกับบางเครื่องที่วางช่องระบายลมร้อนไว้ด้านข้าง หรือด้านหลัง ถ้าใครนั่งตำแหน่งนั้นคงอยู่ไม่สบายตัวแน่นอน

จุดเชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆ ถูกจัดวางไว้ด้านข้าง ผิดกับโปรเจคเตอร์หลายๆ เครื่องที่มักจะจัดวางไว้ด้านหลัง ซึ่งผมว่าตำแหน่งนี้เข้าท่าดีนะจะได้ไม่มีปัญหาเชื่อมต่อสายกรณีที่จำเป็นต้องติดตั้งโปรเจคเตอร์ชิดผนังด้านหลัง อย่างไรก็ดีการเก็บซ่อนสายอาจจะทำได้ลำบากสักหน่อย เพราะไม่มีช่องหรือฝาครอบสำหรับบังร้อยสาย แต่มิได้เป็นปัญหาใหญ่แต่อย่างใด

เยื้องมาใกล้ๆ กับจุดเชื่อมต่อสายสัญญาณ เป็นตำแหน่งของแผงควบคุม สามารถเลื่อนฝาปิดได้เมื่อมิได้ใช้งาน ซึ่งดูลงตัวดี

ด้านบนส่วนหน้าจะเห็นปุ่มหมุนสำหรับปรับตำแหน่ง Lens Shift โดยแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งปรับแนวตั้ง (Vertical) อีกชุดสำหรับแนวนอน (Horizontal) ส่วนด้านหลังยังซ่อนจุดเปลี่ยนหลอดไฟ (lamp) เอาไว้ได้อย่างกลมกลืน

เซ็นเซอร์รับสัญญาณรีโมตคอนโทรลถูกติดตั้งไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งการรับสัญญาณดีมากครับ ในบางสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องชี้รีโมตตรงไปที่ตัวโปรเจ็คเตอร์ก็ยังควบคุมได้ดี ส่วนรีโมตคอนโทรลที่ให้มาก็ดูดีสมกับรุ่นใหญ่ มี Back-lit สีส้ม สว่างเห็นชัดทุกปุ่มแม้ใช้งานในห้องมืด

Connectivity – ช่องต่อ

W11000 รับสัญญาณภาพความละเอียดระดับ 4K Ultra HD ผ่านทาง HDMI Input จำนวน 2 ช่อง เป็นหลัก โดย HDMI 1 เท่านั้นที่เป็น Version 2.0 (with HDCP 2.2) รองรับสัญญาณภาพความะเอียดสูงสุดที่ 4K/60Hz 16-bit 4:2:0 หรือ 4K/60Hz 8-bit 4:4:4 ดังนี้การเชื่อมต่อกับแหล่งโปรแกรมภาพระดับ 4K Ultra HD คุณภาพสูง (อาทิ 4K/UHD Blu-ray Player) จึงแนะนำให้เชื่อมต่อที่ช่องนี้ ส่วน HDMI 2 เป็น Version 1.4 (with HDCP 1.4) รองรับสัญญาณภาพความะเอียดสูงสุดที่ 4K/30Hz 8-bit

ช่องรับสัญญาณวิดีโออื่น มีเพียง Analog D-Sub (VGA) In 1 ช่อง เท่านั้น แต่สามารถรับสัญญาณได้ทั้ง PC (RGB) และ Component (YPbPr/YCbCr)

Extra- เพิ่มเติม

การถ่ายทอดภาพที่ดีเยี่ยมจากโปรเจคเตอร์นั้น คุณภาพของเลนส์ก็มีส่วนสำคัญยิ่งเพราะเป็นทางผ่านในขั้นสุดท้ายก่อนที่ภาพจะถูกฉายออกไป ซึ่ง BenQ ได้เลือกใช้ชิ้นเลนส์คุณภาพสูงจำนวน 14 ชิ้น แบ่งเป็น 6 กลุ่ม มีการฉาบผิวเพื่อลดการคลาดสี ติดตั้งในกระบอกโลหะที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อผลลัพธ์ภาพที่คมชัด และถ่ายทอดคุณภาพของภาพดีที่สุด

ความยอดเยี่ยมที่เอื้อต่อการติดตั้งจาก W11000 ยังรวมไปถึงระบบซูม 1.5 เท่า ยกตัวอย่าง หากต้องการฉายภาพบนจอขนาด 100 นิ้ว จะสามารถกำหนดระยะจัดวางโปรเจคเตอร์ได้ยืดหยุ่นมาก ตั้งแต่ 3.03 ม. ไปจนถึง 4.56 ม. นอกจากนี้ยังมีระบบ Lens Shift ที่สามารถชดเชยระยะติดตั้งได้ทั้งแนวตั้ง (+/-65%) และแนวนอน (+/-27%)

สำหรับท่านที่จะใช้งานรับชมแบบ Ultra-wide 2.35:1 ร่วมกับ W11000 ก็มี Anamorphic Lens จาก Panamorph เป็นอ็อพชั่นเสริมด้วยเช่นกัน

W11000 จะมีตัวเลือก Test Pattern ไว้ให้อ้างอิงในการติดตั้งด้วย โดยใช้ในการปรับตำแหน่ง Lens Shift และซูมขนาดภาพฉาย ให้พอดีกับขนาดของจอรับภาพนั่นเอง

Picture – ภาพ

อานิสงส์จาก 6X-Speed RGBRGB Color Wheel ที่ทำงานรวดเร็ว จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเห็น Rainbow Effect ให้รำคาญตา จุดที่ใช้ยืนยันคุณภาพเลนส์ของ W11000 นอกจากได้ภาพที่ชัดเจนแล้ว อาการคลาดสีโดยเฉพาะบริเวณขอบจอนี่แทบไม่มี แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็นรายละเอียดคมชัดอันไร้ซึ่งปัญหาเหลื่อมสี หรือ Misconvergence

ทดสอบดูหน่อยว่า W11000 ปราศจากปัญหา Misconvergence ตั้งแต่ออกจากโรงงานตามที่ BenQ เคลมไว้หรือไม่? ซึ่งผลลัพธ์ยืนยันว่าจริง เส้นขาวบนพื้นดำมีความคมไม่มีปัญหาสีเหลื่อม แต่ย้ำว่าต้องปรับโฟกัสให้เป๊ะด้วยนะครับ

ซึ่งการปรับซูมและโฟกัสของ W11000 โดยใช้มือหมุนวงแหวนหน้าเลนส์แบบแมนวล จะดำเนินการได้ยากกว่าโปรเจคเตอร์รุ่นไฮเอ็นด์อื่นๆ ที่ใช้มอเตอร์ควบคุมและสั่งการผ่านรีโมตคอนโทรลไร้สายอยู่บ้าง แต่ถ้าทำได้ผลลัพธ์ก็จะเป๊ะมากเลย คำแนะนำคือควรมี 2 คนช่วยกัน คนหนึ่งคอยหมุนปรับวงแหวนโฟกัสที่โปรเจคเตอร์ ส่วนอีกคนยืนใกล้จอรับภาพแล้วคอยดูผลลัพธ์เพื่อแจ้งบอก

BenQ W11000 Pre-Calibration Data

หมายเหตุ: กรณีที่ปลดล็อคในส่วนของ ISFccc จะมีโหมดภาพเพิ่มเติมเข้ามาอีก 2 โหมด ได้แก่ ISF Night และ ISF Day

มาดูในส่วนของความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดสีสันกันบ้าง ซึ่งดีกรีที่ได้รับจาก THX ไม่ใช่ราคาคุย จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่าให้ค่าอุณหภูมิสีได้ยอดเยี่ยมใกล้เคียง 6500°K เกือบทุกโหมดภาพ แม้แต่โหมด Vivid ก็ยังให้ผลลัพธ์ดีมาก

แล้วถ้าถามว่าโหมดไหนที่ควรแนะนำให้ใช้ โดยอิงจากผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงที่สุด? แน่นอนว่าต้องมีโหมด THX รวมอยู่ด้วย ความเที่ยงตรงของสีสันนั้นหายห่วง ถึงแม้ระดับความสว่างของโหมดนี้จะไม่สูงมากนัก (เนื่องจาก Lamp Mode ถูกกำหนดไว้ที่ Eco) แต่ก็เหมาะใช้งานในห้องมืดเมื่อต้องการภาพที่ออกไปทางดูสบายตา รับชมได้นานไม่ล้า การถ่ายทอดสีดำลึกเข้ม ที่สำคัญ คือ โปรเจคเตอร์จะทำงานเสียงเงียบมาก ประหยัดไฟ และยืดอายุหลอดไฟออกไปได้นานด้วยครับ (สูงสุด 6000 ชม.) หรือจะทดลองเปรียบเทียบกับโหมด Silence ที่ผลลัพธ์คล้ายคลึงกันเป็นอีกทางเลือกดูด้วยก็ได้ โดยความสว่างจะสูงกว่า THX สมดุลสีจะย่อหย่อนกว่านิดหน่อย แต่ยังคงทำงานเงียบและประหยัดไฟเหมือนกันครับ

อย่างไรก็ดีบางท่านอาจรู้สึกว่าโหมด THX ภาพดูทึมไปสักหน่อย ชอบแบบสว่างๆ มากกว่า ตรงนี้สามารถเปลี่ยนมาใช้งานโหมด Cinema แทนได้ ซึ่งให้ระดับความสว่างสูงขึ้นมาก ในขณะที่สมดุลสีมิได้ย่อหย่อนจากโหมด THX เลย ระดับเสียงรบกวนอาจจะเพิ่มขึ้นจากโหมด THX และ Silence แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มิได้สร้างความรำคาญแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ต้องการรีดความสว่างจาก W11000 ออกมาใช้งานอย่างเต็มที่ อย่างเช่นกรณีที่ต้องสู้กับแสงรบกวน ขอแนะนำโหมด Vivid เลยครับ ดังที่เรียนไปในตอนต้นว่าโหมดนี้ก็ไม่เว้นในเรื่องของสมดุลสีที่ทำได้ดีเช่นกัน เรียกว่ามิได้ย่อหย่อนจากโหมดอื่นเท่าใดนัก ทว่าจะได้ระดับความสว่างชดเชยเข้ามาแทน (ไม่น้อยกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับโหมด THX) ส่วนโหมด Bright นั้น ถึงแม้ความสว่างจะสูงที่สุดก็จริง แต่คงต้องละไว้เนื่องจากการถ่ายทอดสมดุลสีที่ค่อนข้างผิดเพี้ยนครับ (อาจใช้ได้ในบางกรณีที่เน้นเฉพาะความสว่าง ไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสีสัน) กระนั้นคงต้องย้ำเช่นเคยว่า การใช้งานโปรเจ็คเตอร์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรใช้งานในห้องมืด หรืออย่างน้อยก็ขอให้คุมแสงรบกวนให้เหลือน้อยที่สุดจะเหมาะสมกว่าครับ

โหมดภาพจากโรงงานนั้นยอดเยี่ยมก็จริง แต่เชื่อว่าหลายท่านยังคงต้องการสิ่งที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์” ในแง่ของความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดสีสันอิงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งในจุดนี้ด้วยฟีเจอร์จาก ISFccc สามารถไฟน์จูนจนได้ค่าภาพที่ยอดเยี่ยมเข้าขั้นเพอร์เฟ็กต์เลยทีเดียว โดยสามารถไฟน์จูนในส่วนของ White Balance, CMS และ Gamma

ทดสอบอีกสักเรื่องกับ “Exodus: Gods and Kings” ในรูปแบบ 4K/UHD Blu-ray Disc ถึงแม้ W11000 จะยังไม่รองรับการแสดงผลแบบ HDR แต่ด้วยการถ่ายทอดระดับความสว่างจากแหล่งกำเนิดแสงตามสเป็กที่ 2200 ลูเมน ผสานรวมกับการทำงานของ Dynamic Iris ก็ให้ความเปรียบต่างของแสงได้น่าตื่นตา ด้านภาพเคลื่อนไหวยังไม่มีฟังก์ชั่นประมวลผลแทรกเฟรม แต่ก็ให้ความต่อเนื่องของเฟรมต้นฉบับที่ดูเป็นธรรมชาติจนอาจไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งระบบดังกล่าว

ทดสอบกับ Xbox One S ดูบ้าง ซึ่งระบบฯ ตรวจสอบและยืนยันชัดเจนอีกครั้งว่า W11000 สามารถรับสัญญาณ 4K 60Hz 10-bit ได้แน่นอน ทั้งเล่นเกมและชมภาพยนตร์เลยจ้า (ตามสเป็กแจ้งว่ารองรับสัญญาณภาพได้สูงสุดถึง 4K/60Hz 16-bit 4:2:0 หรือ 4K/60Hz 8-bit 4:4:4)

และสุดท้าย สำหรับท่านที่จะเชื่อมต่อกับเครื่องเกมคอนโซล หรือ PC (เพราะเดี๋ยวนี้เกมรองรับความละเอียด 4K แล้วนะ) คงต้องการทราบว่า HDMI Input Lag ของ W11000 ทำได้ดีเพียงใด? คำตอบที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีปัญหาดีเลย์จนส่งผลกับการเล่นเกมครับ

Conclusion – สรุป

W11000 ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังโปรเจคเตอร์ระดับ 4K ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมในระดับราคาเอื้อมถึงได้ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน อันเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตนาม BenQ ในการส่งมอบทางเลือกใหม่ เพื่อเอื้อให้ทุกท่านได้เริ่มต้นก้าวเข้าสู่ยุค 4K Ultra HD ระดับคุณภาพเดียวกับโรงภาพยนตร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ… ซึ่งพร้อมให้ทดลองพิสูจน์ด้วยตาของท่านเองได้แล้ววันนี้ครับ!

จุดเด่นของ BenQ W11000
– การแสดงผลแบบ 4K XPR ให้ความคมชัด รายละเอียดพิกเซลดีกว่า Full HD Projector อย่างเห็นได้ชัดเจน
– ปราศจากปัญหา Misconvergence ไม่จำเป็นต้องทำ Panel Alignment ใดๆ ในขั้นตอนติดตั้ง และ Screen-door Effect ก็บางมากจนแทบไม่เห็น
– ให้ช่องต่อ HDMI มาทั้งหมด 2 ช่อง เป็น Version 2.0 1 ช่อง รองรับสัญญาณ 4K 60Hz 4:4:4 และ HDCP 2.2 ส่วนอีกช่องเป็น HDMI 1.4 รองรับสัญญาณ 4K 30Hz

– ได้รับการรับรองจาก THX โหมดภาพจากโรงงานจึงให้ความเที่ยงตรงสูงมาก ในขณะที่รองรับการคาลิเบรทปรับภาพได้ละเอียดตามมาตรฐาน ISF
– เลนส์ฉายคุณภาพสูง ให้อัตราคลาดสีน้อย และมีระยะซูมถึง 1.5 เท่า พร้อมด้วย Lens Shift ปรับได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนทำให้กำหนดตำแหน่งตั้งวางได้ยืดหยุ่น
– ให้ระดับความสว่างสูงสุดตามสเป็กที่ 2200 ลูเมน ในขณะที่มีระดับเสียงรบกวนจากระบบระบายความร้อนต่ำ

จุดด้อยของ BenQ W11000
– การปรับหน้าเลนส์ทั้ง Zoom, Focus และ Shift ควบคุมด้วยมือ ยังไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์มอเตอร์ แต่ก็ให้ผลลัพธ์ในแง่ความละเอียดเที่ยงตรงและยืดหยุ่นได้อย่างดีเยี่ยม
– ขอบเขตสียังไม่ครอบคลุมถึง DCI-P3 แต่สำหรับมาตรฐาน sRGB/Rec.709 นั้น ทำได้ดีมากเกิน 100%
– ไม่รองรับการแสดงผล 3D
– ไม่มี Frame Interpolation แต่การรับชมภาพเคลื่อนไหวต่างๆ มิได้รู้สึกว่าสะดุด หรือขาดความต่อเนื่อง
– ไม่มีลำโพงในตัว การใช้งานโปรเจคเตอร์ระดับนี้ต้องการชุดโฮมเธียเตอร์เต็มระบบจึงจะคู่ควร

ขอขอบคุณ Review ดีๆจาก www.lcdtvthailand.com
โดย : ชานม